ทุกวันนี้มีสาวไทยที่แต่งงานอยู่กินกับหนุ่มต่างชาติต่างภาษาต่างวัฒนธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
จนในบางพื้นที่ทางภาคอีสานอย่างเช่นจังหวัดขอนแก่นหรืออุดรธานี
ที่มีลูกเขยเป็นฝรั่งตาน้ำข้าวกันเยอะแยะมากมายจริงๆ
ถ้าได้แต่งงานกับคนดีก็โชคดีไปแต่ถ้าได้แต่งงานกับฝรั่งที่ไม่มีความรับผิดชอบ
ก็อาจเจอเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาวุ่นวายจนหาทางแก้ไขได้ยากจริงๆ
อันดับแรกที่ผู้หญิงควรศึกษาหาข้อมูลคือ
“กฎหมาย”ทั้งที่เป็นกฎหมายของประเทศไทยและกฎหมายของประเทศฝ่ายชาย
เพื่อทราบถึงสิทธิหน้าที่และประโยชน์ที่ตนจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
และปัจจุบันนี้การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยระหว่างหญิงไทยกับหนุ่มต่างชาติ
ทำได้สะดวก ณ ที่ทำการเขตหรือที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง
เพียงแต่คู่สมรสต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือใบรับรองความโสดของฝ่ายชาย
ซึ่งสามารถขอได้ที่สถานทูตของประเทศที่ชายคนนั้นถือสัญชาติอยู่
โดยให้ชายนำหนังสือเดินทางของเขาเองไปที่สถานทูตในประเทศไทย
เพื่อให้สถานทูตตรวจสอบและรับรองว่าชายนั้นมีสถานภาพโสด
และเมื่อได้คำรับรองมาแล้วให้แปลคำรับรองนั้นโดยสำนักแปลที่รับรองได้
แล้วให้นำคำรับรองพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทยไปให้กรมการกงสุลรับรองอีกครั้ง
แล้วนำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทยเพื่อให้ได้สิทธิหน้าที่
และประโยชน์ที่ตนจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทย

ส่วนการจดทะเบียนสมรสที่สถานทูตของประเทศฝ่ายชายในไทย
ถือว่าเป็นการจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศไม่มีผลกับสถานภาพของคู่สมรสในประเทศไทย
แต่ทำให้หญิงไทยได้สิทธิหน้าที่และประโยชน์ที่ตนจะได้รับความคุ้มครอง
ตามกฎหมายของประเทศฝ่ายชายดังนั้นหากหญิงต้องการได้รับสิทธิหน้าที่
และประโยชน์ที่ตนจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศไทย
ก็ต้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยด้วยแต่มีข้อควรระวัง
เนื่องจากเคยมีปัญหาสามีต่างชาติแต่งงานจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทยจริง
แต่หนีกลับประเทศของตนเองและไม่กลับมาประเทศไทยอีก
ส่งผลต่อผู้หญิงไทยได้หากไม่ได้หย่ากันตามกฎหมายเพราะการทำนิติกรรมบางอย่าง
เช่น การซื้อขายที่ดินกฎหมายได้กำหนดให้หญิงไทยที่จดทะเบียนสมรสแล้ว
จะทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากคู่สมรสด้วย

บางคนอาจคิดว่าก็อย่าไปบอกสิว่าเราแต่งงานแล้วบอกไปว่า โสด
หากแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ดินไปอย่างนั้นจริงๆเรื่องนี้คนพูดอาจกลายเป็นผู้กระทำความผิดอาญา
ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่
จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน3ปีนะคะ
หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีต้องการหย่าจากกันหากเกิดปัญหาฝ่ายชายหนีกลับประเทศ
ไม่ยอมกลับมาเมืองไทยอีกแล้วฝ่ายหญิงต้องขอพึ่งพากระบวนการยุติธรรมของไทย
แม้มีข้อกฎหมายให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงาน
ของฝ่ายสามีชาวต่างชาติที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทยแต่ต้องรอขั้นตอนเป็นเวลานานมาก
เพราะต้องส่งเรื่องไปที่กระทรวงยุติธรรมจากนั้นจึงส่งต่อไปยังกระทรวงต่างประเทศ
โดยวิธีทางการทูตจะมีข้อยกเว้นอยู่ไม่กี่ประเทศคือประเทศอินโดนีเซีย
สาธารณรัฐประชาชนจีน,ประเทศออสเตรเลีย
และราชอาณาจักรสเปนที่เป็นการส่งเอกสารคำฟ้องได้โดยตรงทางศาล

เนื่องจากประเทศไทยได้มีข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องการส่งคำคู่ความ
และเอกสารและการสืบพยานในคดีแพ่งและพาณิชย์กับประเทศต่างๆ
เหล่านี้แล้วดังนั้นเราควรสนับสนุนให้ประเทศไทยได้ทำข้อตกลงเช่นนี้
กับประเทศอื่นๆอีกเยอะๆนะคะเพื่อช่วยหญิงไทยให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว
ในทางคดีแพ่งและพาณิชย์มากขึ้นแต่ก็ยังอีกปัญหาที่น่าห่วง
คือแม้ว่าหญิงไทยจะชนะคดีที่ตนเองฟ้องสามีต่างชาติในศาลไทยได้แล้ว
อย่างเช่นฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้แล้ว
แต่สามีต่างชาติหลบหนีกลับประเทศของตนไม่ยินยอมจ่าย
ค่าอุปการะหรือค่าเลี้ยงดูบุตรเหล่านั้น
แต่ปรากฏว่าคำพิพากษาของศาลไทยไม่สามารถใช้บังคับ
กับสามีและทรัพย์สินของสามีต่างชาติ
ในประเทศของเขาได้เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญา
ระหว่างประเทศว่าด้วยการยอมรับและการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
ในเรื่องทางแพ่งและพาณิชย์ดังนั้นเรื่องนี้ต้องให้รัฐบาลไทยรีบดำเนินการต่อไป

ในระหว่างนี้หญิงไทยก็ต้องพึ่งพาตัวเองต่อไปหากต้องการให้สามีต่างชาติ
จ่ายค่าอุปการะหรือค่าเลี้ยงดูบุตรก็ควรพยายามพูดเจรจากันดีๆ
เพราะเรายังไม่อาจไปบังคับจากทรัพย์สินของสามีต่างชาติ
ในประเทศของเขาได้มีทางเดียวคือการเดินทางไปฟ้องคดี
ที่ประเทศของสามีซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก
ดังนั้นทางที่ดีสำหรับหญิงไทยจึงควรจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย
และที่สถานทูตของประเทศที่สามีถือสัญชาติอยู่ด้วยเพื่อให้ทางสถานทูต
ประเทศนั้นให้ความช่วยเหลือเราหากเกิดปัญหาขึ้นที่สำคัญ
ควรศึกษาข้อกฎหมายของประเทศเหล่านั้นด้วย
เพื่อให้ทราบถึงสิทธิหน้าที่และประโยชน์ที่ตนได้รับความคุ้มครอง
ตามกฎหมายของประเทศนั้น

ข้อมูลเหล่านี้ต้องขอขอบคุณ ดร. ธนกร วรปรัชญากูล
ซึ่งท่านเป็นอัยการประจำกรมอยู่ในสำนักงานอัยการพิเศษ
ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศสำนักงานอัยการสูงสุด
ที่ได้ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้เหล่านี้ให้นักกฎหมายได้ทราบผ่านข่าวเนติบัณฑิตยสภา
และในกรณีท่านใดกำลังมีปัญหากับสามีต่างชาติอยู่ต้องการขอคำปรึกษา
หรือขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ
สามารถร้องเรียนไปที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ
หรือติดต่อที่www.humanrights.ago.go.th
ซึ่งมีบริการให้คำปรึกษาปัญหากฎหมายผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย

สุดท้ายนี้ก็พอจะสรุปได้ว่า“การใช้ชีวิตคู่”
ไม่ว่าจะใช้ภาษาเหมือนกันหรือต่างกันหากมีปัญหาในชีวิตคู่ขึ้นแล้ว
ก็ดูวุ่นวายและยุ่งยากด้วยกันทั้งนั้นดังนั้นอย่าพยายามให้เกิดปัญหาขึ้นจะดีกว่านะคะ
ที่สำคัญหากจะเลือกใครมาเป็น“คู่ชีวิต”
ชายคนนั้นที่ควรเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในฐานะเป็นสามีเป็นพ่อเป็นดีที่สุด

ที่มา:ASTVผู้จัดการออนไลน์
15 มิถุนายน 2553By อ้วน อารีวรรณ